ศรช.บ้านดงบังตำบลหนองบ่อ

วันศุกร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2553

การจัดกระบวนการการเรียนรู้การศึกษานอกระบบ ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544

การจัดกระบวนการการเรียนรู้การศึกษานอกระบบ ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544
อัญชลี ธรรมะวิธีกุล
ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ

อัญชลี ธรรมะวิธีกุล
ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ
18 มีนาคม 2551

แนวคิดในการจัดกระบวนการเรียนรู้

การจัดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการจัดการศึกษานอกระบบ หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ได้ยึดแนวทางที่สำคัญดังนี้

1. การจัดกระบวนการเรียนรู้ด้วยปรัชญา “คิดเป็น” ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ร่วมกันในการคิดวิเคราะห์ และการแก้ปัญหา โดยเริ่มตั้งแต่รวบรวมและวิเคราะห์สภาพปัญหา การรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่นำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาโดยการใช้ข้อมูล 3 ด้าน คือ ข้อมูลด้านตนเอง ข้อมูลด้านวิชาการ และข้อมูลด้านสังคมสิ่งแวดล้อมมาใช้ในกระบวนการคิดวิเคราะห์ หาแนวทางในการแก้ปัญหาและแนวทางในการแก้ปัญหาและหาแนวทางปฏิบัติด้วยหลักของความเป็นเหตุเป็นผลในการดำเนินชีวิตของตนเองและอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเป็นสุข ในการจัดการเรียนรู้จะต้องคำนึงถึงจิตวิทยาการศึกษาผู้ใหญ่ที่ต้องการเรียนรู้ เพื่อนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการประกอบอาชีพได้ทันที ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำหลักสูตร จึงมีความจำเป็นต้องจัดเนื้อหาสาระของหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน
2. การจัดกระบวนการเรียนรู้โดยยึดตามแนวทางการจัดการศึกษาในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 โดยยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ นอกจากนี้กระบวนการจัดการเรียนรู้ยังต้องจัดสาระการเรียนรู้และกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล การเรียนรู้ในสาระต่าง ๆ จึงมีกระบวนการและวิธีการที่หลากหลายให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เน้นกระบวนการเรียนรู้ตามสภาพจริง เช่น การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้ร่วมกัน การเรียนรู้จากวิถีชีวิต และการเรียนรู้จากปฏิบัติจริงเหล่านี้ เป็นต้น
3. การจัดกระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการ เน้นการเรียนรู้แบบองค์รวมที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ และกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ร่วมกัน โดยนำกระบวนการเรียนรู้จากสาระการเรียนรู้ในหมวดวิชาเดียวกัน หรือสาระการเรียนรู้ต่างหมวดวิชามาบูรณาการร่วมกับสภาพวิถีชีวิตในการจัดการเรียนการสอน ทั้งนี้ ผู้สอนมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) เป็นผู้ชี้แนะ ตลอดจนเป็นวิทยากรในสาขาวิชาที่นำมาบูรณาการ ซึ่งจัดได้หลายลักษณะ เช่น 1) การบูรณาการแบบผู้สอนคนเดียว 2) การบูรณาการแบบคู่ขนาน 3) การบูรณาการแบบสหวิทยาการ และ 4) การบูรณาการแบบโครงงาน
รูปแบบการจัดการเรียนรู้

การจัดการศึกษานอกระบบ ได้กำหนดรูปแบบการจัดการเรียนรู้ออกเป็น 2 ลักษณะ คือ

1. การจัดการเรียนรู้โดยการพบกลุ่ม จะเน้นหนักการศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นหลัก มีการพบกลุ่ม เพื่อนำสิ่งที่ได้ไปศึกษาค้นคว้ามานำเสนอ อภิปราย และสรุปร่วมกันในลักษณะการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน
2. การจัดการเรียนรู้โดยการศึกษาทางไกล เป็นวิธีการที่ผู้เรียนเรียนรู้โดยผ่านสื่อการศึกษาทางไกล ได้แก่ วิทยุ โทรทัศน์ Internet เป็นต้น

วิธีการดำเนินการจัดกิจกรรม เป็นการจัดการเรียนรู้ตามสภาพและความเหมาะสมของแต่ละกลุ่มเป้าหมาย โดยมีวิธีการเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น

1. การเรียนรู้ด้วยการพบกลุ่ม
2. การเรียนรู้ด้วยตนเอง
3. การเรียนรู้ด้วยการจัดชั้นเรียน
4. การเรียนรู้ด้วยการสอนเสริม
5. การเรียนรู้ด้วยวิธีการอื่น ๆ ตามที่สถานศึกษาเห็นสมควรและเหมาะสมสอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้เรียน
วิธีการเรียนรู้แต่ละวิธีมีกระบวนการจัดการเรียนรู้ ดังนี้

1. การเรียนรู้ด้วยการพบกลุ่ม
มีวิธีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ที่เน้นกระบวนการให้นักศึกษาสร้างความรู้ ความคิดได้ด้วยตนเอง เหมาะกับนักศึกษาที่พอมีเวลามาพบกลุ่มในแต่ละสัปดาห์ นักศึกษาต้องให้ความสำคัญและร่วมกิจกรรมทุกครั้ง เนื่องจากมีการประเมินผลร่วมอยู่ด้วยทุกกิจกรรมการเรียนรู้ โดยกำหนดให้นักศึกษาต้องมาพบกลุ่ม เรียนรู้จากกระบวนการพบกลุ่มไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยมีขั้นตอนการดำเนินงานดังนี้

1) กิจกรรม Home room โดยการที่ครูจะต้องให้การแนะแนว แก้ไขปัญหา การเรียนรู้ของนักศึกษา และติดตามปัญหาของนักศึกษาเป็นรายบุคคล ในการไปเรียนรู้ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา
2) นักศึกษานำเสนอผลงานหรือผลที่ได้รับจากการเรียนรู้ต่อเนื่อง (กรต.) ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ต่อเนื่องที่ครูได้มอบหมายในการพบกลุ่มครั้งที่ผ่านมา โดยจะเป็นงานกลุ่มหรือรายบุคคลก็ได้ ซึ่งจะมีคะแนนสะสมระหว่างเรียน
3) ครูจัดการเรียนการสอนเพิ่มเติมในเนื้อหาที่ยากปานกลาง ซึ่งนักศึกษากับครูได้ร่วมกันวางแผนการเรียนรู้ไว้ล่วงหน้าแล้ว
4) การทดสอบย่อย นักศึกษาต้องเข้าทดสอบย่อยทุกครั้งของการพบกลุ่มเป็นการวัดผลประเมินผลระหว่างเรียน มีคะแนนสะสม
5) ครูมอบหมายกิจกรรมการเรียนรู้ต่อเนื่อ ง (กรต.) ในเนื้อหาที่ง่าย ซึ่งนักศึกษาสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองจากสื่อผู้รู้ และแหล่งเรียนรู้โดยมีเวลาทำกิจกรรมการเรียนรู้ตลอดสัปดาห์ไม่น้อยกว่า 15 ชั่วโมง และจะต้องมีผลการเรียนรู้หรือชิ้นงานนำเสนอต่อกลุ่มในการพบกลุ่มครั้งต่อไป
6) กิจกรรมการเรียนรู้จากโครงงาน นักศึกษาร่วมกันวางแผนจัดทำโครงการ โดยมีครูเป็นที่ปรึกษาและมีการรายงานความก้าวหน้าของการทำโครงงานทุกสัปดาห์หลังจากพบกลุ่มซึ่งจะมีคะแนนสะสมทุกครั้งโดยเป็นการบูรณาการเนื้อหาสาระของหมวดวิชาทั้งหมดที่ลงทะเบียนเรียนในภาคเรียนนั้น ไม่น้อยกว่าภาคเรียนละ 1 โครงงาน
7) การเรียนรู้โดยการทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต (กพช.) เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ใช้กระบวนการกลุ่มเน้นการมีส่วนร่วมนำความรู้และประสบการณ์ไปใช้เพื่อพัฒนาตนเอง ครอบครัว สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ระเบียบวินัย ความรับผิดชอบ การอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการจบหลักสูตรทุกระดับ ผู้เรียนทุกคนต้องทำกิจกรรม กพช. ไม่น้อยกว่า 100 ชั่วโมง โดยทำในภาคเรียนใดภาคเรียนหนึ่ง หรือทำสะสมทุกภาคเรียนก็ได้ ซึ่งกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งเสริมให้เรียนรู้ในเรื่องต่อไปนี
7.1) กิจกรรมพัฒนาตนเองและครอบครัว เป็นกิจกรรมที่มุ่งเน้นพัฒนาผู้เรียนทางด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และสิ่งแวดล้อมของครอบครัว เพื่อไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต การอยู่ร่วมกันในสังคมและชุมชนได้อย่างมีความสุข
7.2) กิจกรรมพัฒนาชุมชนและสังคม เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง ตลอดจนการพัฒนาสิ่งแวดล้อม โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการเรียนรู้
2. การเรียนรู้ด้วยตนเอง
มีวิธีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ให้กับนักศึกษาที่ไม่มีเวลามาพบกลุ่มเป็นประจำ แต่พอมีเวลาบ้าง โดยให้นักศึกษาต้องวางแผนการเรียนรู้ โดยมีวิธีการดังนี้

1) นักศึกษาสมัครเรียนและเข้ารับการแนะแนวจากสถานศึกษา จัดทำแผนการเรียนรู้
2) นักศึกษาต้องมีหลักสูตรของหมวดวิชาที่ลงทะเบียนและมีคู่มือการเรียนรู้สำหรับนักศึกษา
3) การพบกลุ่มการเรียนรู้ มีการพบกลุ่มและปรึกษากับ ครู ศรช./ครูประจำกลุ่ม ทางโทรศัพท์ อีเมล์ Internet ฯลฯ
4) มีการทดสอบระหว่างเรียนตามแผนที่ได้ทำความตกลงกับ ครู ศรช./ครูประจำกลุ่มล่วงหน้า
5) มีการทำโครงงาน
6) มีการเรียนรู้ต่อเนื่อง (ปรึกษาจากผู้รู้/ผู้ปกครอง ตามมาตรฐานการเรียนรู้ของหมวดวิชาที่ลงทะเบียนเรียน)
7) มีการสอบปลายภาค


3. การเรียนรู้ด้วยการจัดชั้นรียน
มีวิธีจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ให้นักศึกษาที่มีเวลาเรียนและต้องการความรู้อย่างเข้มข้นในหมวดวิชาที่ตนเองสนใจ โดยมีวิธีการดังนี้

1) ประกาศให้นักศึกษาที่สนใจสมัครเรียนแบบชั้นเรียนในหมวดวิชาที่สนใจ
2) นักศึกษาเข้าเรียนตามเวลา และสถานที่กำหนดร่วมกันระหว่างนักศึกษาและสถานศึกษา
3) ดำเนินการสอนโดย ครู ศรช./ครูประจำกลุ่ม และวิทยากรสอนเสริม
4) นักศึกษาจัดทำโครงงานตามหมวดวิชาที่เรียน
5) นักศึกษาเรียนรู้ต่อเนื่อง (กรต.)
6) ทดสอบระหว่างเรียน
7) ทดสอบปลายภาคเรียน
8 ) ประเมินผลการเรียน


4. การเรียนรู้ด้วยการสอนเสริม
การสอนเสริม มีความจำเป็นสำหรับการจัดการเรียนรู้เพราะจะช่วยให้นักศึกษามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสาระการเรียนรู้มากขึ้น เนื่องจากมีสาระการเรียนรู้ที่ยากและซับซ้อนและระยะเวลาเรียนที่ค่อนข้างจำกัดทำให้นักศึกษาไม่สามารถเข้าใจได้จึงมีความจำเป็นต้องสอนเสริมในบางหมวดวิชาและบางสาระการเรียนรู้ที่มีความยากและซับซ้อน ได้แก่ วิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาต่างประเทศ หมวดวิชาละไม่เกิน 12 ชั่วโมง โดยทั้งนักศึกษาและครูร่วมกันวางแผนการสอนเสริม โดยเชิญวิทยากรซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ผู้รู้ ผู้ชำนาญในเนื้อหานั้น เช่น ครูอาจารย์ที่เกษียณอายุแล้ว เจ้าหน้าที่หน่วยงานต่าง ๆ เป็นผู้สอนเสริมหรือใช้สื่อวีดิทัศน์ประกอบการสอน การสอนเช่นนี้จะทำให้นักศึกษาเข้าใจเนื้อหาที่ยากได้ดีขึ้น ช่วงเวลาและสถานที่ในการสอนเสริมเป็นไปตามแผนที่ร่วมกันกำหนดไว้ใช้เวลาที่เหมาะสม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นอกเหนือจากเวลาการพบกลุ่ม ทั้งนี้จะต้องประสานกับศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอ/เขต จัดหาวิทยากร อาจเป็นวิทยากรภายในหรือภายนอกก็ได้ ซึ่งจะได้จัดสรรค่าวิทยากรสอนเสริม

วัตถุประสงค์ของการสอนเสริม

1. เพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน มุ่งผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ให้สูงขึ้น
2. เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสาระการเรียนรู้ของหมวดวิชาที่มีความยุ่งยากซับซ้อน และไม่อาจศึกษาได้ด้วยตนเอง
3. เพื่อให้มีโอกาสศึกษาความรู้จากวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะสาขาวิชา
4. เพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเข้ามาเป็นวิทยากรสอนเสริมในรูปแบบอาสาสมัคร


5. การเรียนรู้ด้วยวิธีการอื่น ๆ
ดำเนินการโดยครูและนักศึกษาวางแผนการเรียนรู้ร่วมกัน กำหนดให้นักศึกษาเลือกวิชาการเรียนรู้ตามความถนัด ความเหมาะสม สอดคล้องกับวิถีชีวิตของนักศึกษา เช่น การเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ในชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ครอบครัว การไปทัศนศึกษา มีวิธีดำเนินการดังนี้

1) ครูและนักศึกษาวางแผนการเรียนรู้ร่วมกัน
2) นักศึกษาเสนอแหล่งเรียนรู้/ภูมิปัญญาที่สอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนของหมวดวิชาที่ลงทะเบียนเรียน
3) นักศึกษากำหนดแผนการเรียนรู้และเรียนรู้ตามแผนที่กำหนดไว้
4) สรุปความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้มาเสนอครู/สถานศึกษาทุกครั้ง
5) วิทยากรหรือครูจากแหล่งเรียนรู้หรือสถานประกอบการประเมินผลการเรียนรู้ของนักศึกษาระหว่างเรียนโดยครูหรือสถานศึกษาจัดทำแผนร่วมกัน
6) สถานศึกษาทดสอบภาคปฏิบัติที่ผู้เรียนไปเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้/สถานประกอบการ ที่ตนถนัดหรือมีความชำนาญการ
7) สถานศึกษาทดสอบภาคทฤษฎีตามมาตรฐานและสาระการเรียนรู้หมวดวิชาที่ลงทะเบียนเรียน
หมายเหตุ : สามารถนำความรู้และประสบการณ์เทียบโอนเป็นหมวดวิชา หรือรายสาระการเรียนรู้ในหมวดวิชา ผู้เรียนที่ลงทะเบียนกับสถานศึกษาสามารถเลือกเรียนได้วิธีเรียนเดียวหรือหลายวิธีในภาคเรียนเดียวกันตามสภาพความพร้อมของแต่ละบุคคล



สนันสนุนสื่อการเรียนรู้

สถานศึกษาต้องให้ความสำคัญในการใช้และพัฒนาสื่อการเรียนรู้ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ต่อผู้เรียนกลุ่มเป้าหมายนอกระบบอย่างจริงจัง โดยจัดให้มีสื่อที่หลากหลาย ทั้งในด้านรูปแบบเนื้อหาสาระ การนำไปใช้ตรงตามความต้องการของนักศึกษา สื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับนักศึกษา มีดังนี้

1. สื่อสิ่งพิมพ์ ได้แก่ หนังสือเรียน คู่มือครู ชุดวิชา หนังสืออ่านเพิ่มเติม ใบงาน แบบฝึกกิจกรรม หนังสือพิมพ์ แผ่นภาพ เป็นต้น
2. สื่อบุคคล ได้แก่ บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่าง ๆ ปราชญ์ชาวบ้านที่มีความรู้ความสามารถ เป็นต้น
3. สื่อโสตทัศนูปกรณ์และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ ภาพยนตร์ โทรทัศน์ วิทยุ คอมพิวเตอร์ช่วยสอน อินเตอร์เน็ต เป็นต้น
4. สื่อกิจกรรม ได้แก่ บทบาทสมมติ ทัศนศึกษา การทำโครงการ การจัดนิทรรศการ เป็นต้น
การวัดและประเมินผลการเรียน

การวัดและประเมินผลการเรียนตามหลักเกณฑ์และวิธีการจัดการศึกษานอกระบบ หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 มีเป้าหมายสำคัญ เพื่อนำผลการประเมินไปพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุมาตรฐานการเรียนรู้ของกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ นำไปใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุงแก้ไขส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการของผู้เรียนโดยตรง และนำไปปรับปรุงแก้ไขการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งนำไปใช้ในการพิจารณาตัดสินความสำเร็จทางการศึกษาของผู้เรียนอีกด้วย โดยสถานศึกษาต้องจัดทำระเบียบการประเมินผลการเรียนของสถานศึกษา รวมทั้งจัดทำหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติในการวัดและประเมินผลการเรียนตามหลักเกณฑ์ และวิธีการจัดการศึกษานอกระบบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ของสถานศึกษาให้ชัดเจน เพื่อให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายถือปฏิบัติร่วมกัน และเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันสถานศึกษาต้องมีผลการเรียนของผู้เรียนจากการวัดและประเมินผลใน 2 ลักษณะ ได้แก่

1. การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ประกอบด้วย
1.1 การวัดและประเมินผลการเรียนหมวดวิชา
1.2 การประเมินกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต (กพช.)
1.3 การประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์
1.4 การประเมินการอ่าน คิด วิเคราะห์ และเขียน
2. การประเมินคุณภาพการศึกษานอกระบบระดับชาติ

1. การวัดและประเมินผลการเรียน
1.1 การวัดและประเมินผลการเรียนหมวดวิชา
หลักเกณฑ์และวิธีการจัดการศึกษานอกระบบ หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2544 ได้แบ่งโครงสร้างออกเป็น 2 กลุ่มหมวดวิชา คือ กลุ่มหมวดวิชาพื้นฐาน ประกอบด้วย หมวดวิชาภาษาไทย หมวดวิชาคณิตศาสตร์ หมวดวิชาวิทยาศาสตร์ หมวดวิชาภาษาต่างประเทศ กลุ่มวิชาประสบการณ์ ประกอบด้วย หมวดวิชาพัฒนาสังคมและชุมชน (สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม) หมวดวิชาพัฒนาทักษะชีวิต 1 (สุขศึกษาและพลศึกษา) หมวดวิชพัฒนาทักษะชีวิต 2 (ศิลปะ) และหมวดวิชาพัฒนาอาชีพ (การงานอาชีพและเทคโนโลยี) สำหรับการวัดและประเมินผลการเรียนกำหนดให้มีการวัดและประเมินผลการเรียนหมวดวิชา ควบคู่ไปกับกระบวนการเรียนการสอนโดยให้สถานศึกษาใช้วิธีการประเมินผลที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลพัฒนาการความก้าวหน้าของผู้เรียนด้านความรู้กลุ่มหมวดวิชาพื้นฐานและกลุ่มหมวดวิชาประสบการณ์

1.1.1 ขั้นตอนการประเมินผลการเรียนหมวดวิชา
การประเมินผลการเรียนหมวดวิชาเป็นการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนที่ดำเนินการควบคู่ไปกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้กลุ่มหมวดวิชาพื้นฐาน และกลุ่มหมวดวิชาประสบการณ์โดยมีขั้นตอนการดำเนินงานดังนี้

1) กำหนดผลการเรียนรู้ที่คาดหวังรายหมวดวิชาโดยวิเคราะห์มาตรฐานและสาระการเรียนรู้
2) กำหนดเกณฑ์การตัดสินผลการเรียนรู้ที่คาดหวังเป็นรายวิชา
3) ดำเนินการประเมินผลระหว่างเรียนเพื่อทราบความก้าวหน้าของผู้เรียน
4) ประเมินผลปลายภาคเรียนเพื่อทราบผลการเรียนโดยรวม
5) ตัดสินผลการเรียนเป็นหมวดวิชา


1.1.2 วิธีการประเมินผลการเรียนหมวดวิชา
สถานศึกษาควรดำเนินการประเมินผลการเรียนใน 3 ลักษณะ ดังนี้

1) การประเมินผลก่อนเรียน
การประเมินผลก่อนเรียนมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการตรวจสอบความรู้ ทักษะ และความพร้อมต่าง ๆ ของผู้เรียนที่เป็นพื้นฐานการเรียนรู้ในแต่ละสาระและมาตรฐานการเรียนรู้ของแต่ละหมวดวิชา โดยใช้วิธีการที่หลากหลายและเหมาะสมตามสภาพแต่ละหมวดวิชา เพื่อนำผลที่ได้จากการประเมินไปใช้ในการปรับปรุง ซ่อมเสริมหรือเตรียมผู้เรียนให้มีความพร้อมและมีพื้นฐานพอเพียง จะทำให้การจัดกิจกรรมการเรียนรู้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและจะช่วยให้ผู้เรียนประสบผลสำเร็จในการเรียนได้เป็นอย่างดี การประเมินพื้นฐานและความพร้อมของผู้เรียนในระยะก่อนเรียนนี้จึงเป็นความสำคัญและจำเป็นที่ผู้สอนทุกคนควรจะต้องดำเนินการ

2) การประเมินผลระหว่างเรียน
การประเมินผลระหว่างเรียนเพื่อทราบความก้าวหน้าทั้งด้านความรู้ ทักษะ กระบวนการ คุณธรรม ค่านิยม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ รวมทั้งประเมินความประพฤติ การเรียน การร่วมกิจกรรม และผลงานอันเป็นผลงานมาจากการจัดกิจกรรมเรียนรู้ โดยให้มีการประเมินผลอย่างต่อเนื่อง และดำเนินการควบคู่ไปกับกิจกรรมการรเรียนรู้ของผู้เรียน

การประเมินผลระหว่างเรียนมีแนวทางในการปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้
(1) วางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และการประเมินผลระหว่างเรียน โดยผู้สอนและผู้เรียนจัดทำแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และแนวทางการประเมินผลให้สอดคล้องกับผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง ซึ่งในแผนการเรียนรู้ควรระบุงานที่จะทำให้ผู้เรียนบรรลุตามผลการเรียนรู้ที่คาดหวังไว้ด้วย
(2) กำหนดสัดส่วนการวัดและประเมินผลระหว่างภาคเรียน และปลายภาคเรียนเป็น 60 ต่อ 40 โดยผู้เรียนต้องเข้าสอบปลายภาคเรียน และได้คะแนนสอบปลายภาคไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของคะแนนเต็มปลายภาคเรียน และรวมคะแนนทั้งระหว่างภาคเรียน และปลายภาคเรียนแล้วต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 จึงจะผ่านการเรียนในหมวดวิชา/รายวิชานั้น ๆ โดยมีแนวปฏิบัติดังนี้
- คะแนนระหว่างภาคเรียน 60 ส่วน จะประเมินอะไรบ้าง ให้สถานศึกษาพิจารณาแนวทางในการประเมินโดยคำนึงถึงพัฒนาการในการเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งอาจจะประเมินจากการศึกษาต่อเนื่อง (กรต.) การทดสอบย่อย (Quiz) การทำรายงาน การทำโครงงาน หรือการทำแฟ้มสะสมงาน โดยกำหนดสัดส่วนการประเมินให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้เรียน ทั้งนี้สถานศึกษาจะต้องกำหนดไว้ในระเบียบประเมินผลการเรียนของสถานศึกษาให้ชัดเจน
(3) เลือกวิธีการประเมินที่สอดคล้องกับงานหรือกิจกรรมหลัก ที่กำหนดให้ผู้เรียนปฏิบัติในการประเมินผลระหว่างเรียนรู้ผู้สอนสามารถประเมินด้วยวิธีที่หลากหลายให้สอดคล้องกับธรรมชาติและสาระการเรียนรู้ของหมวดวิชาและระดับการศึกษา เป็นการประเมินจากสิ่งที่ผู้เรียนได้แสดงให้เห็นว่ามีความรู้ ทักษะ และความสามารถ ตลอดจนมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์อันเป็นผลจากการเรียนรู้ โดยสามารถเลือกดำเนินการได้อย่างหลากหลายวิธี เช่น การประเมินผลงานที่ผู้เรียนศึกษาด้วยตนเอง การนำเสนองานและการร่วมอภิปรายการทดสอบย่อย (Quiz) การทำโครงงาน เป็นต้น
3) การประเมินผลปลายภาคเรียน
การประเมินผลปลายภาคเรียน มีวัตถุประสงค์เพื่อทราบผลการเรียนรู้ของผู้เรียนที่ได้เรียนตามสาระและมาตรฐานการเรียนรู้ของแต่ละหมวดวิชาโดยภาพรวม ทั้งความรู้ ทักษะ และกระบวนการ โดยใช้เครื่อมือที่หลากหลายตามลักษณะและธรรมชาติของหมวดวิชา เช่น แบบทดสอบปรนัย แบบทดสอบอัตนัย แบบประเมินการปฏิบัติ และแฟ้มสะสมงาน เป็นต้น ผู้เรียนที่จะผ่านการเรียนหมวดวิชาจะต้องเข้าสอบปลายภาคเรียนและมีคะแนนผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดดังนี้

- คะแนนปลายภาคเรียนร้อยละ 40 ให้ประเมินโดยใช้แบบทดสอบ มีทั้งแบบปรนัยและอัตนัย ส่วนจะเป็นปรนัยเท่าไร อัตนัยเท่าไร ให้อยู่ในดุลยพินิจของสถานศึกษา และนักศึกษาต้องสอบให้ได้ร้อยละ 50 ของคะแนนปลายภาคเรียน และเมื่อนำคะแนนมารวมกับคะแนนระหว่างภาคเรียนแล้วต้องได้ร้อยละ 50 จึงจะตัดสินใจให้ค่าระดับผลการเรียนในหมวดวิชานั้น
การสอบแก้ตัว หากนักศึกษาไม่ผ่านการประเมินหมวดวิชาใด ให้สอนซ่อมเสริม แล้วสอบแก้ตัวในหมวดวิชานั้น โดยใช้เครื่องมือที่เหมาะสมในการดำเนินการหากไม่ผ่านตามมาตรฐาน จึงให้ผลการเรียนเป็น “0″ ซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนนัดลงทะเบียนเรียนในภาคเรียนถัดไป ถ้าสอบซ่อม ผ่าน ให้ค่าระดับผลการเรียน เป็น “1″ ถ้าสอบซ่อมไม่ผ่าน ให้นักศึกษาลงทะเบียนเรียนซ้ำในหมวดวิชานั้น

- ในกรณีที่นักศึกษาลงทะเบียนเรียนซ้ำ ไม่นำผลการเรียนที่ได้ “0″ มาประมวลผลเป็นค่าระดับผลการเรียนเฉลี่ย (GPA)
การตัดสินผลการเรียนหมวดวิชา

ผู้สอนทำการวัดและประเมินผลการเรียนเป็นหมวดวิชาด้วยวิธีการที่หลากหลายให้ได้ผลการประเมินตามความสามารถที่แท้จริงของผู้เรียน โดยทำการวัดและประเมินผลไปพร้อมกับการจัดกิจกรรมเรียนรู้ ได้แก่ การสังเกตพัฒนาการและความประพฤติของผู้เรียน การสังเกตพฤติกรรมการเรียน การร่วมกิจกรรม การทดสอบระหว่างการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และเมื่อสิ้นสุดการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ซึ่งผู้สอนต้องนำนวัตกรรมการวัด และประเมินผลทางเลือกใหม่ (Alternative Assessment) เช่น การประเมินสภาพจริง (Authentic Assessment) การประเมินการปฏิบัติ (Performance Assessment) การประเมินจากโครงการ (Work Project) และการประเมินจากแฟ้มสะสมงาน (Portfolio) ไปใช้ในการประเมินผลการเรียนควบคู่ไปกับการใช้แบบทดสอบต่าง ๆ การตัดสินผลการเรียนให้นำคะแนนระหว่างภาคเรียนรวมกับคะแนนปลายภาคเรียนแล้วนำไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด เพื่อให้ค่าระดับผลการเรียน

การให้ค่าระดับผลการเรียนให้กำหนดเป็น 8 ระดับ ดังนี้

ได้คะแนนร้อยละ 80-100 ให้ระดับ 4 หมายถึง ดีเยี่ยม

ได้คะแนนร้อยละ 75-79 ให้ระดับ 3.5 หมายถึง ดีมาก

ได้คะแนนร้อยละ 70-74 ให้ระดับ 3.0 หมายถึง ดี

ได้คะแนนร้อยละ 65-69 ให้ระดับ 2.5 หมายถึง ค่อนข้างดี

ได้คะแนนร้อยละ 60-64 ให้ระดับ 2 หมายถึง ปานกลาง

ได้คะแนนร้อยละ 55-59 ให้ระดับ 1.5 หมายถึง พอใช้

ได้คะแนนร้อยละ 50-54 ให้ระดับ 1 หมายถึง ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนด

ได้คะแนนร้อยละ 0-49 ให้ระดับ 0 หมายถึง ต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนด

หมวดวิชาที่ได้รับผลการเรียน 1, 1.5, 2, 2.5, 3, 3.5 หรือ 4 ถือว่าสอบหมวดวิชานั้นได้

กรณีผู้เรียนมีผลการเรียนไม่ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนด ให้ดำเนินการพัฒนาผู้เรียนในรายหมวดวิชาที่ได้ค่าระดับผลการเรียนไม่ผ่านเกณฑ์ โดยดำเนินการด้วยวิธีการที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสาระและมาตรฐานการเรียนรู้ของหมวดวิชาและบริบทของผู้เรียน เช่น การทำโครงงานหรือกิจกรรม หรือการมอบหมายให้ไปศึกษาค้นคว้าทำรายงานจนผู้เรียนสามารถผ่านเกณฑ์การประเมินผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง แล้วให้ระดับผลการเรียนใหม่ตามเงื่อนไขที่สถานศึกษากำหนด สำหรับผู้เรียนที่ปรับปรุงพัฒนาแล้วไม่ผ่านเกรฑ์ขั้นต่ำ ให้ลงทะเบียนซ้ำในหมวดวิชาเดิมหรือเปลี่ยนหมวดวิชา ทั้งนี้ให้เป็นไปตามโครงสร้างหลักสูตร ตามหลักเกณฑ์และวิธีการจัดการศึกษานอกระบบแต่ละระดับการศึกษา ทั้งนี้ ควรดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนลงทะเบียนเรียนในภาคเรียนถัดไป

1.1 การประเมินกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต (กพช.)
การประเมินกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต (กพช.) เป็นเงื่อนไขหนึ่งผู้เรียนทุกคนจะต้องได้รับการประเมินตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด จึงจะได้รับการพิจารณาให้จบหลักสูตรในแต่ละระดับการศึกษาได้ ผู้เรียนต้องนำเสนอโครงการ/กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นกิจกรรมกลุ่มที่ผู้เรียนทำตามความสนใจ ความถนัด โดยเน้นการนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการศึกษา/เรียนรู้ไปสู่การปฏิบัติที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตจริง เพื่อพัฒนาตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ระเบียบวินัย ความรับผิดชอบ และการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีควาสุขซึ่งแนวทางในการดำเนินการประเมินดังนี้

1.1.1 การประเมินผู้เรียน ผู้สอน ผู้เรียน และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายร่วมกันกำหนดเกณฑ์การประเมินและดำเนินการประเมินผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง ด้วยวิธีการที่หลากหลาย เช่น การสังเกต การดูผลงาน การบันทึกการเรียนรู้ของผู้เรียน
1.1.2 การสรุปผลการเรียน คณะกรรมการวัดผลประเมินผลของสถานศึกษา จะรวบรวมผลการประเมินกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตจากผู้สอนและผู้เกี่ยวข้อง พร้อมหลักฐานต่าง ๆ พิจารณาตีค่าเป็นจำนวนชั่วโมงผ่านกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน ทั้งนี้การตีค่าจำนวนชั่วโมงให้นับรวมตั้งแต่การวางแผน การปฏิบัติกิจกรรม และการประเมินผลกิจกรรมนั้น ส่วนการให้น้ำหนักเวลาให้พิจารณาจากความยากง่าย ความพยายาม ความมุ่งมั่น และผลที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมที่มีต่อตนเอง ครอบครัว สังคม ชุมชนเพียงใด ผลการประเมินกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เป็น “ผ่าน” และ “ไม่ผ่าน“
1.1.3 การบันทึกผลการประเมิน ให้บันทึกจำนวนชั่วโมงที่ได้ปฏิบัติกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตตามที่คณะกรรมการวัดและประเมินผลของสถานศึกษาตีค่าให้
1.1.4 เกณฑ์การประเมินกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต แต่ละระดับการศึกษา ผู้เรียนจะต้องมีจำนวนชั่วโมง การผ่านกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตไม่น้อยกว่า 100 ชั่วโมง จึงถือว่าได้ผ่านกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักสูตร
1.2 การประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์
การประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์เป็นเงื่อนไขที่ผู้เรียนทุกคนจะต้องได้รับการประเมินตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด จึงจะได้รับการพิจารณาให้จบหลักสูตรในแต่ละระดับการศึกษา การกำหนดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของสถานศึกษาให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา ความจำเป็น และความต้องการของสถานศึกษา และชุมชนโดยเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษา ซึ่งคุณลักษณะอันพึงประสงค์นั้นอาจจะซ้ำหรือแตกต่างจากคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม และคุณลักษณะตามมาตรฐานของหลักสูตรมาตรฐานการเรียนรู้ของแต่ละหมวดวิชาก็ได้ เมื่อกำหนดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของสถานศึกษาแล้วจะต้องประกาศให้ทราบเป็นการทั่วไปและแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทราบและมีส่วนร่วมในการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน

การประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ดังกล่าว อาจประเมินจากการที่ผู้เรียนเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ทุกกลุ่มและการเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมทั้งกิจกรรมในลักษณะอื่น ๆ ที่สถานศึกษาจัดขึ้น เพื่อสร้างคุณลักษณะอันพึงประสงค์ให้เกิดกับผู้เรียน การประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ สถานศึกษาควรดำเนินการประเมินในรูปคณะกรรมการ ซึ่งมีแนวทางในการดำเนินการประเมินดังนี้

1.3.1 การประเมินผู้เรียน ผู้สอน ผู้เรียน และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายดำเนินการประเมินผู้เรียนอย่างต่อเนื่องตามแนวทางที่สถานศึกษากำหนด ซึ่งมีวิธีการหลากหลาย เช่น สังเกตและรายงานพฤติกรรมจากผู้เกี่ยวข้อง การดูผลงาน การบันทึกความดี การรายงานตนเองของผู้เรียน ฯลฯ เป็นต้น
1.3.2 การสรุปผลการประเมิน คณะกรรมการวัดและประเมินผลของสถานศึกษารวบรวมผลการประเมินจากคุณลักษณะอันพึงประสงค์ จากผู้ประเมินทุกฝ่ายนำมาพิจารณาแต่ละรายการและสรุปผลการประเมินของผู้เรียนในแต่ละระดับการศึกษา เพื่อวินิจฉัยแบ่งพฤติกรรมของผู้เรียนเป็นดังนี้
“ดีมาก” หมายถึง มีพฤติกรรมหรือสูงกว่าเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด
“ดี” หมายถึง มีพฤติกรรมตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด
“พอใช้” หมายถึง มีพฤติกรรมบางประการที่ควรปรับปรุงและได้ผ่านกระบวนการปรับปรุงที่สถานศึกษาดำเนินแล้ว

1.3.3 การแจ้งผลและบันทึกผลการประเมิน คณะกรรมการวัดและประเมินผลคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของสถานศึกษา จะต้องสรุปผลการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์และแจ้งให้ครูผู้สอนหรือผู้เกี่ยวข้องนำไปแจ้งให้ผู้เรียนทราบ
ในกรณีที่ยังไม่จบระดับการศึกษา การบันทึกผลการประเมิน เพื่อส่งต่อให้กับผู้สอน ผู้เกี่ยวข้องและผู้เรียน ให้บันทึกผลการประเมินเป็นดีมาก ดี หรือมีพฤติกรรมบางประการที่ควรปรับปรุงไว้ด้วย เพื่อสอนผู้เกี่ยวข้องคนต่อไป และผู้เรียนจะได้ร่วมกันปรับปรุงผู้เรียน ให้เกิดคุณลักษณะดังกล่าวที่เป็นไปตามคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่สถานศึกษาได้กำหนด หากผู้เรียนมีคุณลักษณะบางประการที่ควรปรับปรุง และยังไม่ผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณลักษณะอันพึงประสงค์ดังกล่าว ผู้เรียนจะไม่ได้รับอนุมัติวให้จบหลักสูตร

นอกจากนี้ สถานศึกษาควรให้ผู้เรียนเขียนบันทึกของตนเองว่าตนเองมีคุณลักษณะเด่นอะไรบ้าง พร้อมอธิบายลักษณะเด่นหรือความสามารถพิเศษอย่างย่อ ๆ ไว้ด้วย เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการสรุปผลการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ต่อไป

1.3.4 เกณฑ์การประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ในแต่ละระดับการศึกษาผู้เรียนจะต้องเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ตามที่สถานศึกษากำหนด และมีผลการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ซึ่งจะได้เป็นดีมาก ดี หรือพอใช้
1.3 การประเมินการอ่าน คิด วิเคราะห์ และเขียน
การประเมินการอ่าน คิด วิเคราะห์ และเขียนเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ผู้เรียนทุกคนจะต้องได้รับการประเมินตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด จึงจะได้รับการพิจารณาให้จบหลักสูตรในแต่ละดับการศึกษา สถานศึกษาจะต้องกำหนดมาตรฐานการอ่าน คิด วิเคราะห์ และเขียนให้สอดคล้องกับความจำเป็นและความต้องการของสถานศึกษา ทั้งนี้สถานศึกษาจะต้องแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทราบและมีส่วนร่วมในการประเมินการอ่าน คิด วิเคราะห์ และเขียน

การประเมินการอ่าน คิด วิเคราะห์ และเขียน อาจประเมินจากการที่ผู้เรียนเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้หมวดวิชา หรือการเข้าร่วมกิจกรรมในลักษณะอื่น ๆ เพื่อฝึกทักษะการอ่าน คิด วิเคราะห์ และเขียน ตามที่หลักสูตรกำหนดการประเมินดังกล่าว สถานศึกษาควรทำในรูปคณะกรรมการ ซึ่งมีขั้นตอนและวิธีการดำเนินการประเมินดังนี้

1.4.1 การประเมินผู้เรียน ผู้สอน ผู้เรียน และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายดำเนินการประเมินผู้เรียนอย่างต่อเนื่องตามแนวทางที่สถานศึกษากำหนด ซึ่งมีวิธีการที่หลากหลาย เช่น
1.4.1.1 ประเมินขณะจัดการเรียนการสอนรายหมวดวิชา
1.4.1.2 มอบหมายให้ผู้เรียนไปศึกษา ค้นคว้า ไปศึกษาดูงาน แล้วเขียนเป็นรายงานการคิด วิเคราะห์ และนำเสนอในรูปของแฟ้มสะสมงาน/โครงงานหรือรูปแบบอื่น
1.4.1.3 วิธีอื่น ๆ ที่เห็นว่าเหมาะสม
1.4.2 การสรุปผลการประเมิน คณะกรรมการวัดและประเมินผลการอ่าน คิด วิเคราะห์ และเขียนของสถานศึกษารวบรวมผลการประเมินผลการอ่าน คิด วิเคราะห์ และเขียน จากผู้ประเมินทุกฝ่ายนำมาพิจารณาแต่ละประเด็น และสรุปผลการประเมินของผู้เรียนในแต่ละระดับการศึกษา เพื่อวินิจฉัยการอ่าน คิด วิเคราะห์ และเขียนเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
“ดีมาก” หมายถึง มีผลการประเมินสูงกว่าเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด
“ดี” หมายถึง มีผลการประเมินตามเกณฑ์ขั้นต่ำที่สถานศึกษากำหนด
“พอใช้” หมายถึง มีผลการประเมินบางประการที่ต้องปรับปรุงและได้ผ่านกระบวนการปรับปรุงที่สถานศึกษากำหนดแล้ว

1.4.3 การแจ้งผลและบันทึกผลการประเมิน คณะกรรมการวัดและประเมินผลของสถานศึกษาจะต้องสรุปผลการประเมินการอ่าน คิด วิเคราะห์ และเขียน แล้วแจ้งให้ครูผู้สอนหรือผู้เกี่ยวข้องนำไปแจ้งให้ผู้เรียนทราบ
กรณีที่ยังไม่จบระดับการศึกษาให้บันทึกผลการประเมินเป็นดีมาก ดี พอใช้ พร้อมทั้งข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะว่าควรส่งเสริม สนับสนุนผู้เรียนในเรื่องใด หรือควรดูแลเอาใจใส่ในเรื่องใดเป็นพิเศษ เพื่อผู้สอน ผู้เกี่ยวข้อง และผู้เรียนจะได้ร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน หรือปรับปรุงแก้ไขให้ได้ตามมาตรฐานหรือสูงกว่ามาตรฐานการอ่าน คิด วิเคราะห์ และเขียนที่สถานศึกษากำหนดไว้ต่อไป ทั้งนี้หากผู้เรียนมีผลการประเมินบางประการที่ต้องปรับปรุงสถานศึกษาจะต้องจัดกิจกรรม หรือมอบหมายงานให้ผู้เรียนไปดำเนินการ



การผ่านระดับการศึกษาและการจบหลักสูตร

ผู้เรียนทั้งระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสามารถจบการศึกษาโดยมีเกณฑ์การผ่านระดับการศึกษา และจบหลักสูตรในแต่ละระดับการศึกษาดังนี้

1. ผ่านเกณฑ์การประเมินตามมาตรฐานการเรียนรู้ในแต่ละระดับการศึกษา ตามที่สถานศึกษากำหนดดังนี้
1.1. ระดับประถมศึกษา กลุ่มหมวดวิชาพื้นฐาน 20 หน่วยกิต และหมวดวิชาประสบการณ์ 28หน่วยกิต รวมตลอดหลักสูตร ไม่น้อยกว่า 48 หน่วยกิต
1.2. ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น กลุ่มหมวดวิชาพื้นฐาน 24 หน่วยกิต และหมวดวิชาประสบการณ์ 32 หน่วยกิต รวมตลอดหลักสูตร ไม่น้อยกว่า 56 หน่วยกิต
1.3. ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย กลุ่มหมวดวิชาพื้นฐาน 28 หน่วยกิต และหมวดวิชาประสบการณ์ 48 หน่วยกิต รวมตลอดหลักสูตร ไม่น้อยกว่า 76 หน่วยกิต
2. ผ่านเกณฑ์การประเมินกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต (กพช.) ตามที่กำหนดไว้ในหลักเกณฑ์ และวิธีการจัดการศึกษานอกระบบ
3. ผ่านกระบวนการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด
4. ผ่านเกณฑ์การประเมินการอ่าน คิด วิเคราะห์ และเขียนตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด
การพิจารณาอนุมัติการผ่านระดับการศึกษาและการจบหลักสูตร

การพิจารณาให้ผู้เรียนผ่านระดับการศึกษาหรือจบหลักสูตรนั้น ผู้เรียนจะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์การผ่านระดับการศึกษา และการจบหลักสูตร ถ้าผู้เรียนคนใดมีข้อบกพร่องในเกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่ง นายทะเบียนผู้รวบรวมข้อมูลผลการเรียนของผู้เรียน จะไม่เสนอชื่อผู้เรียนนั้นให้หัวหน้าสถานศึกษาพิจารณาอนุมัติผลการผ่านระดับการศึกษาหรือการจบหลักสูตร แต่จะแจ้งให้ผู้เรียนแก้ไขข้อบกพร่องให้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์การผ่านระดับการศึกษาหรือการจบหลักสูตร

เมื่อผู้เรียนแก้ไขข้อบกพร่องจนมีคุณสมบัติตามเกณฑ์การผ่านระดับการศึกษาหรือการจบหลักสูตรครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว จะได้รับการเสนอชื่อให้หัวหน้าสถานศึกษาพิจารณาอนุมัติผลการผ่านระดับการศึกษาหรือการจบหลักสูตรต่อไป

2. การประเมินคุณภาพการศึกษานอกระบบระดับชาติ
2.1 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
สถานศึกษาต้องจัดให้ผู้เรียนทุกคนที่เรียนในภาคเรียนสุดท้ายของระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเข้ารับการประเมินคุณภาพการศึกษานอกโรงเรียนในหมวดวิชา ได้แก่ หมวดวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาตร์ วิทยาศาสตร์ และพัฒนาสังคมและชุมชน มีวัตถุประสงค์เพื่อทราบผลการเรียนรู้ของผู้เรียน เป็นรายสถานศึกษา รายอำเภอ รายจังหวัด รายภาค และภาพรวมของประเทศ เพื่อให้สถานศึกษานำข้อมูลไปใช้ในการวางแผน ปรับปรุง และพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนของสถานศึกษาต่อไป

ทั้งนี้ในอนาคตการประเมินคุณภาพระดับชาติ มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง คือ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ จะเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการประเมินสถานศึกษาที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดังนั้นการประเมินคุณภาพระดับชาติจะประเมินทุกระดับการศึกษา ขณะนี้เริ่มประเมินในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายก่อน

สำหรับนักศึกษาการศึกษานอกระบบในขณะนี้สถานศึกษาจะต้องชี้แจงให้นักศึกษาทราบว่าการที่จะสอบวัดความรู้ระดับชาติ (O-NET) เพื่อไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษานั้น นักศึกษาจะต้องสมัครสอบด้วยตนเอง ส่วนข้อมูลนักศึกษาทั้งหมดที่จบหลักสูตรระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สถานศึกษาจะต้องจัดส่งให้ตามขั้นตอนที่สำนักงานส่งเสริมนอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกำหนด

2.2 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
สถานศึกษาต้องจัดให้ผู้เรียนการศึกษานอกระบบทุกคนที่กำลังศึกษาอยู่ภาคเรียนสุดท้ายของหลักสูตรระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เข้ารับการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) 5 กลุ่มสาระ (หมวดวิชา) ได้แก่ หมวดวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และพัฒนาสังคมและชุมชน (สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม) ซึ่งจัดโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการประกันคุณภาพการศึกษา และเป็นดัชนีบ่งชี้ เพื่อใช้ในการปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนของสถานศึกษา

บทบาทของครูในการจัดการเรียนรู้

1. การเตรียมการ
1.1 การศึกษาและวิเคราะห์เรื่องที่จะจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เข้าใจ
1.2 ศึกษาหาแหล่งความรู้ที่หลากหลาย
1.3 วางแผนการจัดการเรียนรู้
กำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน
วิเคราะห์เนื้อหาและควมคิดรวบยอด และกำหนดรายละเอียดให้ชัดเจน
ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนสำคัญที่สุด
กำหนดวิธีการประเมินผลการเรียนรู้
1.4 จัดเตรียม
สื่อ วัสดุเพื่อใช้ในการจัดการเรียนรู้ ให้เพียงพอสำหรับผู้เรียน
เอกสาร หนังสือ หรือข้อมูลต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับผู้เรียน
ติดต่อแหล่งความรู้ซึ่งอาจจะเป็นบุคคลหรือสถานที่ และศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม
เครื่องมือการประเมินผลการเรียนรู้
ห้องเรียนหรือสถานที่เพื่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
2. การจัดกระบวนการเรียนรู้
2.1 สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดี
2.2 กระตุ้นผู้เรียนให้สนใจในการเข้าร่วมกิจกรรม
2.3 จัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแผนที่ได้เตรียมไว้
2.4 ดูแลให้ผู้เรียนดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ แก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น
2.5 อำนวยความสะดวกแก่ผู้เรียนในการดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้
2.6 กระตุ้นผู้เรียนให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมอย่างเต็มที่
2.7 สังเกตและบันทึกพฤติกรรมและกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน รวมทั้งเหตุการณ์ที่จะส่งผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนที่เกิดขึ้นขณะทำกิจกรรม
2.8 ให้คำแนะนำและข้อมูลต่าง ๆ แก่ผู้เรียนตามความจำเป็น
2.9 บันทึกปัญหาและข้อขัดข้องต่าง ๆ ในการดำเนินกิจกรรมเพื่อการปรับปรุงกิจกรรมให้ดีขึ้น
2.10 เสริมแรงผู้เรียนตามความเหมาะสม
2.11 ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับผลงานการเรียนรู้ของผู้เรียน และให้ความรู้เพิ่มเติมตามความเหมาะสม
2.12 ให้ข้อมูลป้อนกลับแก่ผู้เรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมและกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน และให้ข้อเสนอแนะตามความเหมาะสม
3. การประเมินผล
3.1 เก็บรวบรวมผลงานและประเมินผลงานของผู้เรียน
3.2 ประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนตามที่กำหนดไว้ในแผนการสอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น