ศรช.บ้านดงบังตำบลหนองบ่อ

วันอังคารที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2553

รายงานผลการวิจัย


รายงานผลการวิจัย
การเปรียบเทียบความสามารถการเขียนตัวอักษรไทยแบบตัวกลม ก่อนและหลังการเรียนจากแบบฝึกทักษะการเขียน ของนักศึกษา ศรช.หนองบ่อ ต.หนองบ่อ อ.นาแก จ.นครพนม

ความสำคัญของปัญหา
ภาษาไทยเป็นเครื่องมือติดต่อสื่อสารทำความเข้าใจกัน และใช้ภาษาในการประกอบ
กิจกรรมงานของครอบครัว สังคม และประเทศชาติเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ ดังนั้นการเรียนรู้ภาษาไทย จึงต้องเรียนรู้เพื่อให้เกิดทักษะอย่างถูกต้องเหมาะสมในการสื่อสารไม่ว่าจะเป็น ฟัง พูด การอ่าน การเขียน รวมทั้งการใช้ภาษาให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ทางภาษา
จากการจัดการเรียนการสอนนักศึกษา ศรช.ตำบลหนองบ่อ อ.นาแก จ.นครพนม พบว่า
นักศึกษา มีปัญหาในเรื่องการเขียน เขียนลายมือไม่สวยอ่านไม่ออก ไม่ชัดเจน ขาดทักษะการเขียน ขาดการพัฒนาตนเอง ผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะพัฒนาประสบการณ์ ให้ผู้เรียนฝึกทักษะการเขียนให้ดีขึ้น สามารถพัฒนาตนเองอย่างเป็นขั้นตอนโดยใช้แบบฝึกทักษะ การเขียนตัวอักษรไทยแบบตัวกลมในการพัฒนาลายมือให้ดีขึ้นและเป็นพื้นฐานของการจัดวางคำให้ถูกต้องตามมาตราตัวสะกด
ปัญหาวิจัย
การเรียนจากแบบฝึกการเขียนแบบฝึกทักษะการเขียนตัวอักษรไทยแบบตัวกลม จะทำให้นักเรียนมีพัฒนาการเขียนที่ดีขึ้นหรือไม่
วัตถุประสงค์การวิจัย
1 เพื่อสร้างแบบฝึกทักษะการเขียนตัวอักษรไทยแบบตัวกลม สำหรับนักศึกษา กศน.ระดับ มัธยมศึกษาตอนต้น
2 เพื่อเปรียบเทียบทักษะการเขียนตัวอักษรไทยแบบตัวกลมก่อนและหลังการใช้แบบฝึกทักษะการเขียน
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1.นักศึกษาได้พัฒนาทักษะการเขียนตัวอักษรไทยแบบตัวกลมได้ดีขึ้น
2.นักศึกษาใช้ภาษาเขียนในการสื่อสารได้สวยงามชัดเจน
วิธีการดำเนินการวิจัย1.รูปแบบการวิจัยเป็นการทดลองใช้แบบฝึกทักษะการเขียนตัวอักษรไทยแบบตัวกลม มีการทดสอบก่อนและหลังการเรียน
2.ประชากรที่ใช้คือกลุ่มตัวอย่าง นักศึกษา ศรช.หนองบ่อ ต.หนองบ่อ อ.นาแก จ.นครพนม ที่มีผลการเขียน ลายมืออ่านไม่ออกไม่ชัดเจน จำนวน 5 คน ซึ่งเป็นนักศึกษาในตำบลที่ผู้วิจัยร่วมรับผิดชอบ
3.เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย
3.1 แบบฝึกทักษะการเขียนตัวอักษรไทยแบบตัวกลม เป็นแบบฝึกทักษะการเขียน ตามมาตราตัวสะกดที่มีการประสมคำ การเขียนตามเส้นตามรอยประ จำนวน 4 กิจกรรม ซึ่งมีขั้นตอนการสร้างดังนี้
3.1.1 ศึกษาแบบฝึกทักษะการเขียน แบบคัดลายมือ โดยค้นคว้าจากเอกสาร และสื่อเว็บไซด์ ต่างๆ สอบถามผู้รู้
3.1.2 กำหนดรูปแบบของแบบฝึก
3.1.3 สร้างแบบฝึก
3.1.4 จัดพิมพ์แบบฝึก
3.2 แบบทดสอบมี 1 ชุด คือ แบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน
การสร้างแบบทดสอบ มีขั้นตอนในการสร้างดังนี้
1.กำหนดจุดประสงค์และเนื้อหาที่จะทดสอบ
2.เลือกรูปแบบของแบบทดสอบ
3.ออกแบบทดสอบ
4.จัดพิมพ์แบบทดสอบก่อนและหลังการเรียนรู้
3.3แบบบันทึกการให้คะแนน
การเก็บรวบรวมข้อมูล1.ทดสอบก่อนเรียนโดยใช้แบบทดสอบวัดความสามารถในการเขียน
2.ทดลองใช้แบบฝึกการเขียนสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ครั้งละ 50 นาที รวมทั้งสิ้น 4 ครั้ง เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2553 ถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2553
3.สัมภาษณ์นักศึกษาอย่างไม่เป็นทางการ
4.ทดสอบหลังเรียนโดยใช้แบบทดสอบวัดความสามารถในการเขียน
การวิเคราะห์ข้อมูล
การวิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าเฉลี่ยของคะแนนก่อนเรียนและหลังการเรียนแล้วหาค่าร้อยละเปรียบเทียบผลของการเรียนรู้
ผลการวิจัย
จากการวิเคราะห์ข้อมูลสรุปผลการวิจัยได้ดังนี้
1.นักศึกษามีร้อยละของความก้าวหน้าในการเขียนอักษรไทยแบบตัวกลมโดยภาพรวมจากแบบทดสอบเรียนร้อยละ9 ซึ่งภาพรวมไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน(ดังตารางที่ 1)
2.เมื่อพิจารณาเป็นรายบุคคลพบว่า นางน้ำฝน วงศ์แสนชัย ไม่มีความก้าวหน้าในการเขียน(ร้อยละ 0)นางกมลทิพย์ เจือจันทร์ มีความก้าวหน้าในการเขียน(ร้อยละ 3)นางศรีเมือง ประทุมโสม มีความก้าวหน้าในการเขียน(ร้อยละ 5) นายสมพงษ์ ชาลี มีความก้าวหน้าในการเขียน(ร้อยละ 24) นางใคศรี จำปาแก้ว มีความก้าวหน้าในการเขียน(ร้อยละ 13)

ตารางที่1 เปรียบเทียบความสามารถการเขียนตัวอักษรไทยแบบตัวกลม ก่อนและหลังการเรียนจากแบบฝึกทักษะการเขียนของนักศึกษา ศรช.หนองบ่อ ต.หนองบ่อ จำนวน 5 คน (คะแนนเต็ม 100 คะแนน)
นักเรียนคนที่ คะแนนก่อนใช้แบบฝึก
(100) คะแนนหลังใช้แบบฝึก
(100) ร้อยละของความก้าวหน้า
1.นางน้ำฝน วงศ์แสนชัย 42 42 0
2.นางกมลทิพย์ เจือจันทร์ 28 31 3
3.นางศรีเมืองประทุมโสม 35 40 5
4.นายสมพงษ์ ชาลี 33 57 24
5.นางใคศรี จำปาแก้ว 31 44 13
รวมคะแนน 169 214 45
คะแนนเฉลี่ย(X) 33.8 42.8 9
กำหนดเกณฑ์การแปลผลความก้าวหน้าของผู้เรียนรู้ หรือผลการพัฒนาไว้ที่ ร้อยละ 25 ขึ้นไป
การสะท้อนผลการวิจัย
ผู้วิจัยได้ให้เพื่อนครูและนักศึกษาร่วมกันวิพากษ์วิจารณ์งานวิจัยครั้งนี้ โดยได้ความคิดเห็นไว้ดังนี้
ครูกิตินันท์ ลีสี ครูศรช.อำเภอโพนสวรรค์ เสนอให้ใช้แบบฝึกที่ซ้ำๆบ่อยๆเพื่อการพัฒนาที่ดีขึ้น
นายสมพงษ์ ชาลี นักศึกษา ศรช.หนองบ่อ เสนอให้เพิ่มแบบฝึกให้มากขึ้น
นางใคศรี จำปาแก้ว นักศึกษา ศรช.หนองบ่อ เสนอให้ทำแบบฝึกมาให้ฝึกบ่อยๆ
แนวทางการพัฒนา
นักศึกษา
นักศึกษามีการพัฒนาขึ้นแต่ยังไม่ผ่านเกณฑ์ที่ตั้งไว้
นักศึกษาควรได้รับการส่งเสริม หรือได้รับการพัฒนาความสามารถในการเขียนอย่างต่อเนื่อง
นักศึกษาที่มีข้อบกพร่อง หรือความก้าวหน้าช้าต้องให้เวลาการฝึกเพิ่มขึ้น
นำแนวทางในการพัฒนาความสามารถในการเขียนของนักศึกษา ไปใช้กับสภาพปัญหาอื่น ๆที่คล้ายกัน
ครูผู้วิจัย
ผู้วิจัยได้แนวทางในการปรับปรุงพัฒนาแบบฝึกทักษะการเขียนตัวอักษรไทยแบบตัวกลม
-การเพิ่มกระดาษฝึกลายเส้นกราฟ
-กระดาษฝึกการเขียนแบบตัวบรรจงเต็มบรรทัดและครึ่งบรรทัด(ขนาดตัวอักษร)
-การพัฒนาผู้เรียนโดยการเน้นที่ตัวอักษรที่มีความบกพร่อง
-การฝึกเขียนโดยการแยกความยากง่ายของตัวอักษร
-เพิ่มระยะเวลาในการฝึกเขียน
ผู้บริหาร
สนับสนุนการทำการวิจัยและวัสดุอุปรณ์ในการทำวิจัย



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น